: สหกิจศึกษา (Cooperative Education) คืออะไร :

      สหกิจศึกษา (Cooperative Education) เป็นระบบการศึกษาที่เน้นการปฏิบัติงานในสถานประกอบการอย่างมีระบบ โดยจัดให้มีการเรียนการสอนในสถานศึกษาผนวกกับการฝึกปฏิบัติเพื่อสังคมและได้รับประสบการณ์โดยตรงจากสถานประกอบการ เสมือนหนึ่งเป็นพนักงาน (ชั่วคราว) นับเป็นระบบที่มีการผสมผสานระหว่างการเรียนกับการปฏิบัติงานจริง (Work integrated Learning : WIL) ก่อให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ แก่นักศึกษา
      การได้ลงมือปฏิบัติงานจริงในฐานะพนักงาน (ชั่วคราว) ทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้ในห้องเรียน ทั้งยังเป็นการสร้างเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์การตัดสินใจกับเหตุการณ์ที่พบเจอและฝึกการสังเกต จึงเป็นโอกาสที่ดีที่นักศึกษาจะค้นพบศักยภาพที่แท้จริงและความต้องการด้านงานอาชีพชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้กระบวนการสหกิจศึกษายังทำให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ ส่งผลให้สถานศึกษาสามารถปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ

: วัตถุประสงค์ :

1. เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ทางด้านสายอาชีพ เสริมสร้างทักษะ และพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในรูปแบบที่มีคุณค่าเหนือกว่าการฝึกงานทั่วไป
2. เพื่อเปิดโอกาสให้สถานประกอบการทั้งภาคเอกชนและภาครัฐได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต
3. เพื่อให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนที่ทันสมัยได้มาตรฐานและตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ
4. เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถานประกอบการและสถาบันอุดมศึกษา

: ลักษณะงานสหกิจศึกษา :

1. สถานประกอบการมอบหมายงานให้นักศึกษาเปรียบเหมือนเป็นพนักงานขององค์กร
2. สถานประกอบการกำหนดภาระหน้าที่และตำแหน่งที่ต้องปฏิบัติงานอย่างชัดเจน
3. ระยะเวลาปฏิบัติงานต่อเนื่อง (16 สัปดาห์ ) หรือ 1 ภาคการศึกษา
4. นักศึกษาต้องปฏิบัติงานเต็มเวลา
5. สถานประกอบการจัดให้มีระบบพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำกับนักศึกษาในระหว่างการฝึกปฏิบัติงานสหกิจศึกษา
6. สถานประกอบการพิจารณามอบค่าตอบแทนหรือสวัสดิการ ตามความเหมาะสม

: ประโยชน์ของสหกิจศึกษา :

ประโยชน์ที่นักศึกษาจะได้รับจากการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา

1. ประสบการณ์วิชาชีพตามสาขาวิชาที่เรียนเพิ่มเติมจากห้องเรียน
2. เรียนรู้และพัฒนาตนเอง ที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น รับผิดชอบ และมั่นใจในตนเองมากขึ้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของสถานประกอบการ
3. เรียนรู้และมีทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน
4. ได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติงาน (ตามความเหมาะสมและตามเกณฑ์ที่สถานประกอบการกำหนด)
5. สามารถเลือกสายอาชีพได้ถูกต้องตรงตามความถนัดของตนเอง
6. เป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพในการทำงานมากขึ้นและมีโอกาสได้รับการเสนองานก่อนสำเร็จการศึกษา

ประโยชน์ที่อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการสหกิจศึกษาได้รับ

1. คณาจารย์และผู้บริหารของคณะสามารถกำหนด หรือพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยและสอดคล้องตรงกับความต้องการของตลาดแรงในปัจจุบัน
2. เป็นการเพิ่มศักยภาพของอาจารย์และเพิ่มประสบการณ์ในภาคปฏิบัติและสามารถนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาประยุกต์ พัฒนา กับการเรียนการสอนภายในห้องเรียนได้
3. อาจารย์สามารถนำความรู้หรือประสบการณ์ที่ได้รับมาบูรณาการกับการทำงานวิจัยได้

ประโยชน์ที่สถานประกอบการได้รับ

1. เกิดความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือทางวิชาการกับสถานศึกษา ซึ่งจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในด้านของการส่งเสริมสนับสนุนทางการศึกษา
2. ระบบสหกิจศึกษาเป็นวิธีการที่ช่วยคัดเลือกให้สถานประกอบการมีนักศึกษาช่วยงานและเป็นพนักงานประจำองค์กรต่อไปในอนาคต ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน
3. พนักงานประจำมีนักศึกษาช่วยงาน และสามารถทำงานที่สำคัญได้มากขึ้น
4. สถานประกอบการได้อาจารย์ที่มีคุณภาพเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ
5. สถานประกอบการได้นักศึกษาที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ
6. สถานประกอบการที่รับนักศึกษาสหกิจศึกษาจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยตรง (หักค่าใช้จ่าย 2 เท่า)

 

: การปฏิบัติงานสหกิจศึกษาในสถานประกอบการ :

ความพร้อมในการทำงาน
1. Time Management
- การปฏิบัติงานในสถานประกอบการ 08.00 – 17.00 น.
- เวลาในการเดินทางไปทำงาน
- เวลาในการพักผ่อน

2. First Impression
- ความประทับใจวันแรกในการทำงาน

3. Open Your Mind
- การทำงานร่วมกันกับผู้อื่น
- การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
- การมีน้ำใจกับเพื่อนร่วมงาน พนักงานที่ปรึกษา
- การรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
- การตั้งใจในการทำงาน
- การปฏิบัติงานตามกฎ ระเบียบของสถานประกอบการ